]
‘เรือนเพชรสุกี้’ 53 ปี ‘สุกี้’ โบราณตำรับไห่หนานบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่
]
“เรือนเพชรสุกี้” เปิดประวัติร้าน “สุกี้” ในดวงใจ เกือบไม่ได้เปิดร้าน ถ้า 53 ปีก่อน อากง-สิงพร เลิศธนพันธุ์ ไม่งัดแผนแบรนดิ้งออกมาพิสูจน์ความอร่อย, 53 ปีผ่านมาป้ายร้านสุดคลาสสิกยังคงตระหง่านคู่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ไม่เปลี่ยนแปลง
เรือนเพชรสุกี้ ความอร่อยชื่อนี้เริ่มเปิดตำนานขึ้นเมื่อ อากงซื้อไช้ แซ่ก๊วย หรือคุณ สิงพร เลิศธนพันธุ์ มุมานะและฮึดสู้หลายครั้งกว่าจะเปิดร้านเล็กๆ ในตึกแถวขนาด 2 ห้อง เพื่อขาย สุกี้โบราณตำรับไห่หนาน บนถนนเพขรบุรีตัดใหม่ เมื่อปีพ.ศ.2511 ได้สำเร็จ
อากงซื้อไช้ หรือคุณสิงพร เกิดที่เมืองไทย เดิมเป็นพ่อค้าพืชสวนริมคลองดำเนินสะดวก ตำบลหลักห้า อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ล่องเรือนำพืชสวนมาขายริมถนนทรงวาด ย่านเยาวราช ของกรุงเทพฯ ที่คึกคักไปด้วยร้านรวงอาหารน่ากิน ด้วยความที่มีฝีมือปรุงอาหารอยู่บ้าง จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆ
“ความหลงใหลในการทำและชิมอาหารของอากง มีมาตั้งแต่สมัยยังเป็นพ่อค้าไฟแรงที่คลองดำเนินสะดวก เวลาที่มีงานบุญหรือกิจกรรมใหญ่ๆ ในตำบล อากงจะเปลี่ยนจากพ่อค้าธรรมดาเป็นพ่อครัวใหญ่ ทั้งจับกระทะและคอยสั่งการทุกอย่างอยู่บริเวณโรงครัว จนเมื่อได้เข้ามาขายสินค้าในกรุงเทพฯ บริเวณถนนทรงวาด ศูนย์รวมร้านอาหารอร่อยและเก่าแก่มากมาย ทำให้อากงค้นพบความท้าทายใหม่ที่ต้องการแสดงทักษะด้านอาหารของตัวเองให้ชาวกรุงเทพฯ ได้ลิ้มรส” พงศ์ธรรศ เลิศธนพันธุ์ บันทึกไว้ในบทความ ‘กว่าจะเป็นเรือนเพชรสุกี้’ จากการสัมภาษณ์ ‘อากงซื้อไช้’ ด้วยตัวเขาเองถึงความเป็นมาของร้าน
(กลาง) อากงซื้อไช้ แซ่ก๊วย ผู้ก่อตั้ง ‘เรือนเพชรสุกี้’ กับลูกชายและลูกสะใภ้ สมบูรณ์-ธัญยานันท์ เลิศธนพันธุ์
พงศ์ธรรศ เลิศธนพันธุ์ บุตรชายคุณสมบูรณ์-ธัญยานันท์ เลิศธนพันธุ์
คุณพงศ์ธรรศ เลิศธนพันธุ์ อายุ 30 ปี เป็นหลานปู่ของ ‘อากงซื้อไช้’ นับเป็นผู้บริหารเรือนเพชรสุกี้ รุ่นที่ 3
“คุณปู่มีลูก 5 คน คุณพ่อผมเป็นลูกคนที่ห้า หลังจากคุณปู่ก็เป็นรุ่นคุณลุง ก็จะเริ่มอายุ 20 กับคุณพ่อผมก็จะอายุสิบกว่าๆ ที่ช่วยกันดูแลร้าน ผ่านมา 30 ปี ผมเป็นเจนเนอเรชั่นที่สาม ตอนเปิดร้าน คุณปู่อายุประมาณ 40 ปี ผมยังไม่เกิด แต่ก็ได้คุยกับคุณปู่ถึงประวัติความเป็นมาของร้าน ปัจจุบันคุณปู่อายุจะ 97 ปีแล้ว ท่านก็ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับร้านอยู่ครับ” พงศ์ธรรศ กล่าวกับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’
เต้าเจี้ยวบดปรุงรสสูตรลับ กับ น้ำจิ้มเต้าหู้ยี้สูตรเด็ด
กว่าจะได้สูตรเต้าเจี้ยวบด-น้ำจิ้มเต้าหู้ยี้
ช่วงที่ชาวจีนอพยพหนีความยากจนเข้ามาประเทศไทย สุกี้โบราณสูตรจากเมืองไห่หนาน ประเทศจีน ก็เข้ามาด้วย องค์ประกอบสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของสุกี้โบราณตำรับไห่หนาน คือ เต้าเจี้ยว มีลักษณะเป็นเต้าเจี้ยวบดปรุงรสที่ใช้คลุกเคล้ากับเนื้อสัตว์ และ น้ำจิ้มเต้าหู้ยี้ เครื่องจิ้มสำหรับชูรสวัตถุดิบต่างๆ หลังจากต้มให้สุกในน้ำซุปไก่
‘เต้าเจี้ยวบด’ กับ ‘น้ำจิ้มเต้าหู้ยี้’ นี่เองที่รสชาติจะแตกต่างกันไปตามสูตรเฉพาะของแต่ละร้าน
เยาวราชเวลานั้นมีร้านสุกี้เจ้าดังเพียงแค่ 1-2 ร้าน ด้วยเหตุที่มีความคุ้นเคยกับอาหารประเภทนี้ ประกอบกับความมั่นใจในฝีมือครัวของตนเอง อากงซี้อไช้ จึงหมายมั่นคิดเปิดร้านสุกี้โบราณที่อร่อย เป็นลู่ทางธุรกิจที่มั่นคงให้กับครอบครัวต่อไป
ดังนั้น ทุกวันอาทิตย์ที่ร้านค้าริมถนนทรงวาดหยุดให้บริการ ‘อากงซื้อไช้’ จึงใช้เวลาทั้งวันซื้อหาวัตถุดิบและอยู่ในครัวเพื่อคิดค้น สูตรเต้าเจี้ยว และ น้ำจิ้มเต้าหู้ยี้ ของตัวเอง จนเมื่อมั่นใจในรสชาติ ก็นำไปให้เพื่อนที่สนิทกันชิม ด้วยความมั่นใจว่าต้องได้รับคำชมว่าอร่อย
แต่ผิดคาด เสียงตอบรับที่ได้..ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง อากงซื้อไช้พยายามปรับสูตรเต้าเจี้ยวและน้ำจิ้มเต้าหู้ยี้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่เคยได้รับคำชมเชิงบวกกลับมา
คุณพงศ์ธรรศบันทึกไว้ว่า ความเหนื่อยล้าทำให้อากงรู้สึกท้อแท้และเริ่มหมดหวัง วันหนึ่งอากงตั้งใจทำสุกี้โบราณของตัวเองเป็นครั้งสุดท้าย เดิมพันกับตัวเองว่าถ้าครั้งนี้ยังไม่สำเร็จ จะล้มเลิกความตั้งใจเปิดร้านสุกี้และกลับไปขายสินค้าเกษตรที่ถนนทรงวาดดังเดิม
อากงติดต่อเพื่อนกลุ่มเดิมหลายสิบคนมาช่วยชิมสุกี้อีกครั้ง ใช้เวลาครึ่งวันเดินซื้อวัตถุดิบในตลาดเก่าเยาวราช ในใจคิดว่าอย่างน้อยถ้าจะเป็นครั้งสุดท้าย ก็ขอเดิมพันด้วยฝีมือทั้งหมดที่มีและวัตถุดิบที่ดีที่สุดที่ตัวเองจะหาได้
การทดสอบรสชาติครั้งนี้แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมานิดเดียว ตรงที่อากงให้ลูกน้องไปซื้อสุกี้ร้านที่เปิดอยู่แล้วมา 1 ถุง แล้วเทสุกี้ใส่ลงในชามที่อากงใช้อยู่ประจำ แล้วนำสุกี้ที่ปรุงเองเทกลับลงไปในถุงที่มีชื่อร้านนั้นแทน
เมื่อนำสุกี้ในชามมาวางบนโต๊ะ และเทสุกี้ในถุงใส่ชามอีกใบ สิ่งที่อากงเชื่อมั่นมาเกือบสองปี..จึงได้รับคำตอบ
“สุกี้ที่เพิ่งเทออกจากถุง..ก็ยังอร่อยกว่าเหมือนเดิม”
นอกจากมีฝีมือทำอาหาร อากงซื้อไช้ยังล้ำหน้าด้วยการนำเทคนิค ‘แบรนดิ้ง’ มาทดสอบตลาดตั้งแต่เมื่อห้าสิบปีก่อน
เรือนเพชรสุกี้ เดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 ป้ายชื่อร้านรูปแบบคลาสสิกบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
ที่มาของชื่อ ‘เรือนเพชร’
เมื่อมั่นใจในรสชาติ อากงจึงเริ่มหาสถานที่เพื่อเปิดร้านของตนเอง กรุงเทพฯ พ.ศ.2511 ตัวเมืองกำลังขยายความเจริญออกไปในแนวราบ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เพิ่งเปิดใช้ครบ 5 ปี ช่วงกลางวันแทบไม่มีรถสัญจรผ่าน แต่ช่วงกลางคืนกลับมีรถยนต์จอดเรียงรายเต็มยาวสองฝั่งถนน ด้วยความเป็นย่านสถานบันเทิงยามราตรี มีทั้งคนไทยที่มาเที่ยวและทหารอเมริกันยุคสงครามอินโดจีน
อากงใช้เวลาเกือบเดือนเฝ้าดูความเป็นไปของ ‘ถนนเพชรบุรีตัดใหม่’ จนมั่นใจว่าถนนเส้นนี้เหมาะกับการเปิดร้านอาหารของตัวเอง ลูกค้าน่าจะอยากหาอะไรร้อนๆ กินก่อนกลับบ้าน หรือกินแล้วไปเที่ยวต่อ
กระทั่งพบตึกแถวขนาด 2 คูหาติดป้ายตัวโตว่า ‘เซ้ง’ อากงจึงหมายตาลงหลักปักร้านสุกี้ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ด้วยความที่ต้องย้ายจากต่างจังหวัดมาอยู่กรุงเทพฯ อากงจึงหมายใจให้ร้านแห่งนี้เป็นบ้านเรือนสำหรับอยู่อาศัยด้วย เป็นที่มาของชื่อร้าน เรือนเพชร
เรือน : ความหมายของบ้านเรือน
เพชร : คำในชื่อถนนเพชรบุรีตัดใหม่
นับจากวันนั้นสถานที่แห่งนี้ก็กลายเป็นที่ตั้งของร้าน เรือนเพชร จวบจนถึงปัจจุบัน 53 ปี ไม่เคยย้ายไปไหน
บรรยากาศร้านคงความดั้งเดิมไว้ เปลี่ยนแต่หม้อต้มไฟฟ้าตามกฎหมายการใช้แก๊สในร้านอาหาร
ร้านแห่งครอบครัว และการ ‘นัดเดท’
คล้ายสำรับไทยที่ดึงสมาชิกในครอบครัวมานั่งล้อมวงรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากัน พูดจาสอบถามสารทุกข์สุขดิบซึ่งกันและกัน แต่การกิน ‘สุกี้’ ยังเปิดโอกาสให้คนในครอบครัวมีกิจกรรมหรือประสบการณ์ร่วมกันบนโต๊ะอาหาร นั่นก็คือการปรุงอาหารร่วมกัน หรือปรุงสุกี้ร่วมกัน เช่น การหยิบผัก คีบเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ลูกชิ้น ใส่ลงในหม้อน้ำซุปที่ตั้งกลางโต๊ะ พ่อแม่ช่วยลูกที่ยังเล็กปรุงสุกี้ ลูกหลานช่วยปรุงให้ผู้ใหญ่
นอกจากครอบครัวจะพากันมากินสุกี้โบราณตำรับไห่หนาน ‘เรือนเพชร’ ยังเป็นร้านอาหารที่หนุ่มเท่ยุคนั้นเลือกนัดแฟนสาวมา ‘ออกเดท’ คุณพงศ์ธรรศสันนิษฐานว่า เพราะเมื่อ 50 ปีก่อน ร้านอาหารอร่อยที่สะดวกสบายอาจจะยังมีไม่มาก
รูปแบบการปรุงสุกี้ เสน่ห์ที่ชวนรับประทานทั้งรสชาติและกลิ่นหอมของน้ำซุป
นับตั้งแต่วันเปิดร้าน ‘เรือนเพชร’ ก็ให้บริการสุกี้โบราณตำรับไห่หนานในรูปแบบเดียวกันจนถึงปัจจุบัน คือการคลุกเคล้าเนื้อหมูเนื้อวัวที่หมักนุ่มด้วยแป้ง-น้ำมันงา ให้เข้ากับเต้าเจี้ยวบดปรุงรสและไข่ไก่สด ก่อนใช้ตะเกียบค่อยๆ เกลี่ยลงในหม้อน้ำซุปที่กำลังเดือดพล่าน ตามด้วยเครื่องเคียงต่างๆ
วัตถุดิบบางอย่างยังคงผูกพันกับตลาดเก่าเยาวราช แม้แต่ คนทำเต้าเจี้ยวปรุงรส ก็ยังเป็นคนเดียวกับตอนที่คุณปู่เปิดร้าน ทุกวันนี้ก็ยังทำเต้าเจี้ยวอยู่ รสชาติทุกอย่างเหมือนเดิม
จะมีที่ไม่เหมือนเดิมก็ตรงหลังจากมี กฎหมายเรื่องการใช้แก๊สในร้านอาหาร จากที่เคยบริการด้วยการเดินท่อแก๊สไปตามโต๊ะ ก็เปลี่ยนเป็นการใช้ หม้อต้มไฟฟ้า แทนการใช้ท่อแก๊ส
เต้าเจี้ยวบดปรุงรส และ น้ำจิ้มเต้าหู้ยี้
ความพิถีพิถันเต้าเจี้ยวบดปรุงรส-น้ำจิ้มเต้าหู้ยี้
คนทำ เต้าเจี้ยวบดปรุงรส แม่นสูตรอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความชำนาญในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ด้วย
“ความพิถีพิถันในการทำเต้าเจี้ยวของเรายังเป็นลักษณะ Old School (ดั้งเดิม) คนจีนทำกันเอง ยังไม่เป็นโรงงานใหญ่ ยังผสมด้วยมือ แต่เรามีการชั่งตวงวัดทุกครั้ง ทำทุกรอบรสชาติเหมือนกันเป๊ะ คนที่ทำก็ยังเป็นคนเดิม คนไม่มีประสบการณ์เขาอาจมีสูตร แต่เต้าเจี้ยวและเครื่องปรุงบางอย่างรสชาติจะเปลี่ยนไปตามฤดู เช่น พริก ความเผ็ด-หอมไม่เท่ากันในแต่ละฤดู ก็อยู่ที่ประสบการณ์ของพ่อครัวแต่ละคนจะสามารถแก้ไขรสชาติบางอย่างที่เพี้ยนไปตามฤดูให้กลับมาเป็นปกติได้ไหม ตรงนี้ถึงแม้บางคนมีสูตร แต่ว่าสุดท้ายแล้วรสชาติก็อาจไม่หมือนกับคนประจำทำ” คุณพงศ์ธรรศ กล่าว
เรือนเพชร มีคนทำ ‘เต้าเจี้ยวบดปรุงรส’ เป็นด้วยกัน 3 คน และเป็นสามคนที่ทำมาตั้งแต่ร้านเปิด คนแรกสุดคือพ่อครัวที่ช่วย ‘อากงซื้อไช้’ มาตั้งแต่เปิดร้าน แล้วก็มีน้องชายพ่อครัวเข้ามาช่วย อีกคนเป็นพนักงานเก่าแก่ของร้านที่อยู่กันมานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่ละคนเคยได้รับการทาบทาม ‘ซื้อตัว’ แต่ด้วยความทำงานกับอากงมานาน รักอากง เหมือนมีสัญญาใจต่อกัน จึงไม่มีใครยอมไปจาก ‘เรือนเพชร’
เต้าเจี้ยวบดปรุงรสสูตรเฉพาะ ไข่แดง คลุกเคล้ากับเนื้อสัตว์หมักนุ่ม
คุณพงศ์ธรรศ กล่าวว่า เต้าเจี้ยวบดปรุงรส ชิมดูก็รู้ว่าคือ เต้าเจี้ยว ผงพะโล้ กระเทียม ร้านสุกี้ตำรับไห่หนานก็ใช้วัตถุดิบหลักสามชนิดนี้เหมือนกัน แต่ด้วยอัตราส่วนของคุณปู่ทำให้เต้าเจี้ยวบดปรุงรสของ ‘เรือนเพชร’ มีรสชาติเฉพาะตัวที่ครองใจนักชิมต่อเนื่องมา 53 ปี
เต้าเจี้ยวบดปรุงรส เมื่อทำแล้วควรใช้ให้หมดในสองอาทิตย์ ถ้าเก็บนานไป รสชาติจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนใช้ไม่ได้ สำหรับเรือนเพชรทำเต้าเจี้ยวบดปรุงรส 1 ถัง ใช้ 2-3 วันก็หมดแล้ว ดังนั้นเต้าเจี้ยวปรุงรสที่ร้านใช้จึงทำสดใหม่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับ น้ำจิ้มเต้าหู้ยี้ ก็ทำสดใหม่ ไม่ทันเก็บจนเก่า
“น้ำจิ้มเต้าหู้ยี้ก็ทำใหม่ทุกครั้งเหมือนกัน ตอนนี้เรามีหลายสาขา ลูกค้าถามน้ำจิ้มทำอย่างไร ทำไมบางสาขาไม่เหมือนกันเลย ซึ่งจริงๆ แล้วทุกอย่างทำออกจากที่นี่ที่เดียว (เรือนเพชร ถนนเพชรบุรีตัดใหม่) คนที่ทำคือคนเดียว สูตรจะเป๊ะหมด แยกหน้าที่กับคนทำเต้าเจี้ยว สาขาขอเบิกน้ำจิ้ม วันนี้สั่งมา วันรุ่งขึ้นตอนเช้าเราทำเลย น้ำจิ้มเราใช้พริกขี้หนู พริกแดง กระเทียม มีกระบวนการหมัก หนึ่งสัปดาห์เราหมักหนึ่งครั้ง ทำไว้เลย 10-20 ถัง เวลาจะใช้คือทำวันต่อวัน เอาพริกที่หมักไว้มาใส่เต้าหู้ยี้ น้ำมันงา ตามสูตรที่คุณปู่สร้างไว้ ทำเสร็จก็ส่งไปสาขา ทุกรอบรสชาติเหมือนกัน เป็นวิธีการควบคุมคุณภาพ”
ปัจจุบัน เรือนเพชร มีด้วยกัน 4 สาขา คือร้านดั้งเดิมที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เป็นเสมือนครัวกลาง, อีก 3 สาขาได้แก่ สาขาถนนศรีนครินทร์, สาขาเซ็นทรัล บางนา และ พระราม 2
เกี๊ยวปลา สูตรจากญาติที่ไต้หวัน
เรียก ‘เกี๊ยวปลา’ แต่ทำไมไส้เกี๊ยวไม่ใช่เนื้อปลา
เครื่องสุกี้บางอย่างที่เรากินกันมานาน ทราบหรือไม่ ‘เรือนเพชร’ ก็ทำเอง โดยเฉพาะ เกี๊ยวปลา อากงได้สูตรมาจากญาติคนหนึ่งที่ไต้หวัน ไม่ใช่เกี๊ยวปลาที่ห่อด้วยแป้งหนาๆ
เรียก ‘เกี๊ยวปลา’ แต่ทำไมกัดเข้าไปแล้วไส้ข้างในเป็นเนื้อหมู แล้วปลาอยู่ตรงไหน
คำตอบก็คือ เนื้อปลาอยู่ที่เปลือกห่อเกี๊ยว เรือนเพชรสุกี้นำ เนื้อปลา 95 เปอร์เซนต์มาทำเป็นเปลือกเกี๊ยว ใช้ห่อไส้ที่ทำด้วยเนื้อหมู ส่วนอีก 5 เปอร์เซนต์คือ ‘แป้ง’ ทำหน้าที่ประสานให้เนื้อปลาคงรูปเป็นแผ่นแบบแผ่นเกี๊ยวจนสามารถนำมาห่อไส้ได้นั่นเอง เวลากัดเปลือกเกี๊ยวปลาจึงได้ความหยุ่น หนึบหนับ และกลิ่นของเนื้อปลาแท้ๆ ที่ไม่ใช่แป้งหนาๆ จุดนี้เองที่ทำให้เกี๊ยวปลาของเรือนเพชรแตกต่างจากสุกี้ร้านอื่น
ลูกชิ้นหมึก และ ลูกชิ้นกุ้งเห็ดหอม
เช่นเดียวกับ ลูกชิ้นหมึก ลูกชิ้นกุ้งเห็ดหอม ก็ได้สูตรจากไต้หวัน เป็นเครื่องสุกี้ออริจินอลของร้านที่ทำขึ้นเอง
ลูกชิ้นหมึก ใช้เนื้อหมึกสดๆ จากทะเล นำมาบดผสมเครื่องปรุงให้รสชาติเข้มข้น ปั้นเป็นลูก ได้กลิ่นและรสชาติจากหมึกแท้ๆ พร้อมสัมผัสความกรอบ เด้งสู้ฟัน ไม่ใส่สารแต่งกลิ่นหรือวัตถุกันเสีย
ขณะที่ ‘ลูกชิ้นกุ้งเห็ดหอม’ มีทั้งเนื้อกุ้งและเห็ดหอมชิ้นโตบดผสมรวมกันกับมันหมูเพื่อให้มีความนุ่มชุ่มชื่น ด้วยกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์จากเครื่องปรุงคุณภาพดี ทำให้ลูกชิ้นกุ้งเห็ดหอมของเรือนเพชรสุกี้เป็นอีกหนึ่งเมนูขายดี
คุกกี้สิงคโปร์
มีขนมหวานประจำร้านอยู่อย่างหนึ่งที่คุณพงศ์ธรรศบอกว่าขายดีพอๆ กับสุกี้ คือ คุกกี้สิงคโปร์ คุกกี้เนยที่มีเม็ดมะม่วงหิมพานต์แปะอยู่บนหน้าคุกกี้ ขนมชนิดนี้มีคนรู้จักเป็นคนทำให้ ‘เรือนเพชร’ มานานกว่า 30 ปี
“เป็นขนมที่ลูกค้าถามหามาก ต้องจองไหม เพราะของหมดเร็วมาก เขาส่งให้เราอาทิตย์ละครั้ง แต่มาถึงสองสามวันก็มีคนเหมาไปแล้ว เขาก็ไม่ขายให้คนนอกด้วย เพราะกำลังผลิตเขาไม่พอ ขายแค่ให้สองสามร้าน แต่ละร้านก็เป็นรสชาติพิเศษของแต่ละร้าน ร้านเราเป็นรสออริจินัล” คุณพงศ์ธรรศ กล่าว
ออส่วนกระทะร้อน
อาหารจีน : เพิ่มความหลากหลาย
ด้วยความที่มีวัตถุดิบหลายอย่างสำหรับทำสุกี้ อากงจึงต่อยอดวัตถุดิบเหล่านั้นเป็น อาหารจีน อีกหลายอย่างเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้ลูกค้า คุณพงศ์ธรรศกล่าวว่า อาหารขายดีที่สุดและเมื่อพูดถึง ‘เรือนเพชร’ แล้วคนนึกออก คือ น่องไก่เรือนเพชร เมื่อก่อนชื่อ ‘น่องไก่ไดมารู’ ตั้งชื่อตามห้างสรรพสินค้าชื่อดังของยุคนั้น ปรุงตามตำรับน่องไก่เหล้าแดงซอสซีอิ๊วหวาน ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นชื่อ ‘น่องไก่เรือนเพชร’ เวลาที่คนนึกถึงเรือนเพชรจะนึกถึงเมนูนี้ สูตรทุกอย่างเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนชื่อ
จานขายดีต่อมาคือ ออส่วนกระทะร้อน หอยนางรมคัดขนาดตัวโต คุณพงศ์ธรรศกล่าวว่า ดูจากสถิติของอาหารที่ออกจากครัว ทุกโต๊ะมี ‘ออส่วน’ เป็นเมนูห้ามพลาดของร้าน ตีคู่มากับ ผัดโหงวก๊วย อาหารเทศกาลมงคลด้วยวัตถุดิบ 5 ชนิด คือ เกาลัด แปะก๊วย พุทราจีน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ แห้ว ผัดใส่ในตะกร้าเผือกตามตำรับคลาสสิก
หอยจ๊อ เรือนเพชรสุกี้
นอกจากนี้ยังมี หอยจ๊อ พ่อครัวร้านโชว์ฝีมือทำเอง คัดสรรเนื้อปูผสมเนื้อกุ้งเนื้อหมู ห่อฟองเต้าหู้ ร้านทำเอง เช่นเดียวกับ ทอดมันกุ้ง และ แฮ่กึ๊น เนื้อกุ้งห่อฟองเต้าหู้ ภาษาแต้จิ๋วแปลว่า ‘กุ้งม้วน’ พ่อครัวที่ครัวกลางทำเสร็จก็ส่งให้สาขาทำหน้าที่ทอดเท่านั้น ความอร่อยจึงไม่แตกต่าง
เมนู ปลากะพง ก็ได้รับความนิยม ทางร้านเลือกใช้ปลากะพงขนาดตัวละ 1 กิโลกรัม ตัวใหญ่เนื้อแน่น นอกจากทอดน้ำปลาและนึ่งซีอิ๊ว แต่ที่นี่มี ปลากะพงสามรส ทอดแล้วราดซอสเผ็ดๆ หวานๆ สไตล์จีน
อาหารจานใหม่ที่เพิ่มเข้ามาให้ร่วมกับยุคสมัย เป็นเมนูพิเศษที่จัดให้มีเป็นบางช่วงเวลาเพื่อสร้างความแปลกใหม่ อาทิ สลัดกระดาษ แป้งปอเปี๊ยะห่อไส้ครีมมายองเนสคลุกเคล้าเนื้อกุ้ง เป๋าฮื้อ แล้วนำไปทอด เวลากินข้างนอกจะร้อน แต่ข้างในยังเป็นครีมเย็นๆ เหมือนเป็นของกินเล่น
เช่นเดียวกับ พุงปลากะพงผัดฉ่ากระทะร้อน ถือเป็นเมนูหายาก ไม่ได้เป็นเมนูหลักของร้าน เนื่องจากปลากะพง 1 ตัว มีส่วนพุงปลาเพียง 40-50 กรัม เมนูพุงปลากะพงหนึ่งจานต้องใช้ปลากะพง 4 ตัว เพราะความยากกว่าจะได้พุงปลากะพงแต่ละจาน เมนูนี้จึงมีจำนวนจำกัด เช่น เดือนพฤศจิกายนปี 2563 ทำได้สัปดาห์ละ 10 จานเท่านั้น ถ้าอยากชิมต้องรีบไป และมีเฉพาะที่เรือนเพชร ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
แฮ่กึ๊น ไก่ห่อใบเตย และ หอยจ๊อ ในบรรจุภัณฑ์สำหรับซื้อกลับไปปรุงสุกที่บ้าน
เรือนเพชรสุกี้ ยุคดิจิทัล
เรือนเพชรสุกี้ เป็นร้านเก่าแก่ในตำนานอีกร้านหนึ่งที่ก้าวไปกับ ยุคดิจิทัล โดยทีมผู้บริหารร้านรุ่นที่ 3 นำ ระบบประมวลผล (AI-Artificial Intelligence) เข้ามาปรับใช้กับร้านในทุกด้าน เช่น การจัดระเบียบรายการอาหาร ของร้านที่มีนับร้อยเมนู ทำให้สามารถ ลดของเสียหรือขยะ ที่จะเกิดจากวัตถุดิบเหลือทิ้งได้เป็นอย่างดี รวมทั้ง เงินทุน ที่ไม่ต้องจมไปกับการสำรองวัตถุดิบ
“เรามีเมนูออริจินอลอยู่เล่มหนึ่ง นิ่งๆ มานานตั้งแต่ผมเริ่มเห็น บางเมนูขายไม่ค่อยได้ แต่ก็ยังอยู่ ก่อนมีระบคอมพิวเตอร์เราจดบิลด้วยมือ เราไม่มีข้อมูลอะไรขายได้กี่จาน อะไรขายดีแค่ไหน ผมเริ่มนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เมนูไหนขายไม่ได้เราเริ่มตัดทิ้ง การมีเมนูเยอะไปทำให้วัตถุดิบเยอะ ทุนจม เราค่อยๆ ตัดเมนู ตัดออกแล้วก็ต้องหาเมนูใหม่เข้ามาเสริมด้วย ใช้วิธีตั้งการ์ดบนโต๊ะ ทดสอบประมาณเดือนสองเดือนเพื่อดูผลตอบรับจากลูกค้า ถ้าลูกค้าชอบ เมนูนี้จะเก็บไว้ในลิสต์เพื่อปรับเข้าเมนูเล่มใหญ่ เป็นการปรับเปลี่ยนเมนูเพื่อสะท้อนยอดขายและต้นทุน…
ณ ปัจจุบันเราเน้นข้อมูลมากๆ เอาข้อมูลมาคุยกันมากกว่าใช้ความรู้สึกคุยกัน เมนูนี้ก็ใช้วัตถุดิบเหมือนกับจานอื่น ทำไมต้องเอาออก ก็มีติดเล่มไว้ แต่พอมีข้อมูล (data) เรานำไปให้ดูว่าขายไม่ได้จะเก็บไว้ทำไม คือเก็บไว้ก็ทำให้สต็อควัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้เป็นวัตถุดิบเดียวกับที่ทำอาหารจานอื่น แต่ต้องสต็อคมากขึ้น เราก็เอาออกดีกว่า เอาเมนูใหม่เข้ามาที่ใช้วัตถุดิบน้อยลงหรือประหยัดกว่า และขายได้ ทำให้เกิดการหมุนเวียนดีกว่า ไม่เกิดของทิ้งของเสียที่เปล่าประโยชน์” พงศ์ธรรศ ยกตัวอย่าง
ไก่ห่อใบเตย เมื่อปรุงสุกด้วยหม้อทอดไร้น้ำมันที่บ้าน
นอกจากนี้ยังนำ เทคโนโลยีถนอมอาหาร มาปรับใช้เพื่อเพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ เช่น ไก่ห่อใบเตย เป็นเมนูลูกค้าสั่งเยอะ ก็นำมาทำเป็นลักษณะ pre-cooked คือเตรียมวัตถุดิบแบบพร้อมปรุง บรรจุถุงสุญญากาศ ปลอดสารกันบูด ลูกค้าซื้อไปแล้วก็สามารถนำไปทอดได้เอง หรือใช้กับ หม้อทอดไร้น้ำมัน ที่กำลังเป็นเทรนด์อยู่ในขณะนี้ได้อย่างสบายๆ และสามารถซื้อเก็บสำรองไว้ในตู้เย็นในช่องแช่แข็งอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส ได้นาน 3 สัปดาห์
เกี๊ยวปลา ลวกจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู้ด ก็อร่อย
เช่นเดียวกับ เกี๊ยวปลา ซื้อไปแล้วก็สามารถอร่อยง่ายๆ ด้วยการนำไปลวกแล้วกินกับน้ำจิ้มซีฟู้ด ก็เป็นของกินเล่นเพลินๆ หรือลวกเสร็จก็นำไปเป็นเครื่องใส่ยำวุ้นเส้นก็ได้ หรือทอดให้กรอบเป็นสีเหลืองทอง กินกับน้ำจิ้มไก่ก็อร่อยไปอีกแบบ หรือนำไปทำแกงเขียวหวานแทนลูกชิ้นปลากรายก็ได้อีกเหมือนกัน, ลูกชิ้นหมึก นำไปทอดให้ผิวกรอบ รับประทานร้อนๆ ก็อร่อยมาก
สำหรับคนเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ก็สามารถนำ เกี๊ยวปลา ลูกชิ้นหมึก ลูกชิ้นกุ้งเห็ดหอม ไปเป็นวัตถุดิบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเมนูในร้านได้อีกด้วย หากต้องการซื้อในปริมาณมากสำหรับร้านอาหาร สามารถติดต่อเพื่อขอราคาส่ง
คุณพงศ์ธรรศยังได้ริเริ่มแคมเปญใหม่ๆ ผ่านโลกดิจิทัล โดยร่วมมือกับแอปพลิเคชั่น Hungry Hub จัดโปรโมชั่น All You Can Eat อิ่มๆ กับหลากหลายเมนูทั้งสุกี้และอาหารจีน จะหมูนุ่ม เนื้อนุ่ม รวมมิตร หมูสไลซ์ ปลากะพง กุ้ง สั่งมาเป็นคอนโด ออส่วน บะหมี่อบขาห่าน ทอดมันกุ้ง แฮ่กึ๊น ราคารวมกี่พันบาทไม่รู้ บุฟเฟ่ต์จ่ายที่ 699 บาทสุทธิ/2 ชั่วโมง เพียงจองผ่าน Hungry Hub เท่านั้น ไม่รับวอล์คอิน
“โปรโมชั่น ออล ยู แคน อีต เริ่มเมื่อสองปีที่แล้วก่อนโควิด เรามองว่าการเป็นบุฟเฟ่ต์และจองล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชั่น ทำให้ร้านรู้ล่วงหน้าได้ ว่าวันนี้ลูกค้ามากี่คน พรุ่งนี้มากี่คน ทั้งอาทิตย์มีกี่คน ผู้จัดการสาขารู้ได้เลยว่าต้องเตรียมอาหารเท่าไร เรารู้ราคาต้นทุนล่วงหน้า ถือเป็นการช่วยส่งเสริมการขาย เพราะลูกค้าที่จองบุฟเฟ่ต์คือลูกค้าที่เห็นเราทางออนไลน์ หรือลูกค้าที่ยังไม่เคยกินเรือนเพชร เห็นว่ามีบุฟเฟ่ต์ก็อาจอยากมาลอง ได้การรับรู้มากขึ้นและได้รับการตอบรับที่ดี” คุณพงศ์ธรรศ กล่าวและว่า โปรโมชั่น All You can Eat มีบริการเฉพาะสาขาเซ็นทรัลและศรีนครินทร์ ไม่ได้เปิดทั้งร้านเป็นบุฟเฟ่ต์ แต่กันพื้นที่ร้านส่วนหนึ่งไว้สูงสุด 20 ที่นั่ง
เรือนเพชรสุกี้ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ปรับร้านรับสถานการณ์โควิด-19
เรือนเพชรสุกี้ ในสถานการณ์โควิด-19
หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีนิเทศศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าทำงานที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ 1 ปี และตั้งใจจะทำต่ออีกสัก 2-3 ปี แต่ อากงซื้อไช้ ต่อรอง พอทำงานได้ 1 ปี ก็ส่งคุณพงศ์ธรรศไปเรียนภาษาจีนและศึกษาต่อปริญญาโทด้านด้านอินเตอร์เนชั่นนัลบิสซิเนสที่ Shanghai University of Finance and Economics กรุงเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
ห้าปีที่เซี่ยงไฮ้ทำให้ผู้บริหารรุ่น 3 ของเรือนเพชรสุกี้ เห็นอะไรหลายอย่างที่เมืองไทยยังไม่มีในเวลานั้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีเอไอและการใช้ชีวิตของ ‘คนเมือง’ ผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนทั้งในด้านการเงินและการใช้ชีวิต ร้านค้าทำธุรกิจผ่านระบบคิวอาร์โค้ด แต่เมืองไทยก็เรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านี้ตามเซี่ยงไฮ้มาติดๆ
พนักงานเรือนเพชรสุกี้คุ้นเคยกับการสั่งอาหารผ่านสมาร์ทโฟน
เมื่อกลับมาเมืองไทย คุณพงศ์ธรรศจึงเริ่มนำประสบการณ์จากเซี่ยงไฮ้มาปรับใช้ หนึ่งในนั้นคือ การสั่งอาหารผ่านสมาร์ทโฟน ผ่านบริการดีลิเวอรี่ เริ่มให้ความรู้กับพนักงานของเรือนเพชรเกี่ยวกับระบบใหม่ ให้กล้าใช้เทคโนโลยี ประกอบกับช่วงนั้นเริ่มมีผู้ให้บริการดีลิเวอรี่เกิดขึ้นบ้างแล้ว นั่นคือก่อนเกิดสถานการณ์โควิด 4 ปี ที่เรือนเพชรเริ่มส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น
“การที่เราเข้าสู่ระบบเร็ว ทำให้พนักงานคุ้นชินแอปดีลิเวอรี่ เราสร้างฐานลูกค้าดีลิเวอรี่ได้เยอะ การตกแต่งหน้าร้านตัวเองในดีลิเวอรี่ก็สำคัญ การใช้รูปภาพ การใส่คำอธิบาย เรามีโอกาส try on error (ลองผิดลองถูก)ตรงนี้มาเยอะ วิธีทำให้ลูกค้ารู้ สนใจและสั่งอาหาร ทำให้ยอดขายช่วงโควิดครั้งแรกที่ผ่านมาของเราโตเกือบเท่ากับยอดขายหน้าร้าน” พงศ์ธรรศกล่าว
จัดโปรโมชั่นเซตสุกี้ดีลิเวอรี่ ซื้อ 2 ชุดในราคาลดพิศษ เพื่อให้ลูกค้าคุ้มกับค่าส่ง
อาหารของ ‘เรือนเพชรสุกี้’ ดีลิเวอรี่ได้ทุกอย่างแม้แต่ ‘สุกี้’
“ก่อนโควิด ลูกค้าเรือนเพชรส่วนหนึ่งก็สั่งเซตสุกี้กลับไปต้มเองที่บ้านอยู่แล้ว เราจัดน้ำซุป เซตผัก หมูสด ของสด น้ำจิ้ม ให้ครบ ลูกค้าใช้หม้อไฟฟ้าที่บ้าน ตั้งบนโต๊ะเหมือนกินที่ร้าน พอช่วงโควิดก็ทำให้เมนูพวกนี้ขายดีขึ้นไปอีก เพราะคนมารับประทานที่ร้านไม่ได้ เราก็เอาตรงนี้มาเป็นเมนหลักช่วงโควิด จัดโปรโมชั่นสั่ง 2 ชุดในราคาที่ถูกกว่า ทำให้ลูกค้าสั่งได้เยอะขึ้น ด้วยความที่เป็นดีลิเวอรี่ ลูกค้าคำนึงเรื่องค่าส่งพอสมควร ถ้าค่าส่งแพงเท่าค่าอาหาร เขาจะไม่สั่ง เราเองก็คงคิดเหมือนกัน เราก็เอาตรงนี้มาปรับกับโปรโมชั่น สุกี้ไม่จำเป็นต้องกินในมื้อนั้นทั้งหมด เขาสั่งหลายเซตไปได้ในราคาที่ถูกกว่า แต่เขาสามารถเก็บไว้กินมื้ออื่นได้ สั่งครั้งเดียวจ่ายค่าส่ง 70 บาท แต่อาจจะกินได้ถึงสามมื้อ จะรู้สึกคุ้มกว่า และเราทำราคาโปรโมชั่นลดลงด้วย เซตสุกี้กลายเป็นตัวขายดีที่สุดของที่ร้าน”
เมื่อโรคระบาดทำให้เกิดคำสั่งห้ามนั่งรับประทานอาหารภายในร้าน
อย่างไรก็ตาม โควิดระบาดครั้งแรกสร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว เนื่องจากเกิดคำสั่งล็อคดาวน์ประเทศและมาตรการในหลายธุรกิจ รวมทั้งคำสั่งห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้านอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
“ก่อนสั่งปิดร้านหนึ่งวัน ผมเรียกพนักงานทั้งร้านคุย สร้างความมั่นใจให้พนักงานเราก่อน ว่าชีวิตเขายังเป็นปกติ ความมั่นคงยังมีอยู่ เพียงแค่ช่วงนี้ทุกคนต้องรับทราบปัญหาร่วมกันและเราจะผ่านไปด้วยกัน โดยปรับลดเวลาทำงานลงครึ่งหนึ่งเงินเดือนลดลงครึ่งหนึ่ง แต่เรามีอาหารให้พนักงานครบ 3 มื้อ ที่นอนเรามีให้ ส่วนพนักงานที่สาขาเราก็จัดวัตถุดิบไปให้พ่อครัวที่สาขาเป็นคนปรุง พนักงานที่สาขาก็หยุดครึ่งเดือนเหมือนกัน แต่ค่าหออาจจะต้องจ่ายเอง แม้เงินเดือนจะลดไปสองสามเดือน แต่เขาเซฟค่าข้าวทั้งหมดได้เลย พนักงานทุกคนสามารถอยู่ได้ เราไม่ให้พนักงานคนไหนออก”
สมาชิกครอบครัว “เลิศธนพันธุ์” ทีมบริหารเรือนเพชรสุกี้ พ.ศ.2564
แต่โควิด-19 ไม่จบง่ายๆ เหมือนโรคระบาดที่ผ่านมา กินเวลาระบายยืดเยื้อข้ามปีมาถึงการระบาดระลอกที่สองและสาม เรือนเพชรสุกี้ยอมรับว่า สถานการณ์ตอนนี้หนักมาก
“ช่วงโควิดครั้งแรกเราเจ็บ แต่ไม่เจ็บหนัก เพราะมีเซตสุกี้ดีลิเวอรี่เข้ามาช่วย แต่พอผ่านเฟสที่สองเฟสที่สาม ตัวร้านเองก็เริ่มเหนื่อย ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกคนเหนื่อย เจอสภาวะแบบนี้นานๆ ไฟเริ่มหมด ขณะเดียวกันลูกค้าเหลือน้อยลง การสั่งดีลิเวอรี่คือความตื่นเต้นกับครั้งแรก พอผ่านมาเฟสสองเฟสสามความตื่นเต้นเริ่มหมด เงินก็เริ่มหมด จนถึงปัจจุบันนี้ผมเชื่อว่าร้านทุกร้านซัฟเฟอร์หนักพอๆ กัน เพราะลูกค้าก็ไม่มีเงิน เจ้าของร้านก็เริ่มไม่มีแรง” พงศ์ธรรศ ให้ความเห็น
แต่ทีมผู้บริหารเจนเนอเรชั่นที่ 3 และพ่อครัว ‘เรือนเพชรสุกี้’ ยังสู้ต่อด้วยการออกเมนูใหม่ๆ ให้ตรงใจลูกค้ากลุ่มดีลิเวอรี่ที่กว้างขึ้น โดยใช้วัตถุดิบเดิมที่มีในร้านมาเพิ่มมูลค่าทำเป็นเมนูง่ายๆ เพื่อให้เหมาะสำหรับการเป็นเมนูดีลิเวอรี่ เช่น ข้าวกะเพราเนื้อสไลซ์ ข้าวเนื้อปลาแซลมอนทอดราดซอสน้ำปลาหอม
การพัฒนาสินค้าในลักษณะ pre-cooked และ ready to cook เช่น ไก่ห่อใบเตย หอยจ๊อ แฮ่กึ๊น ก็เป็นช่องทางหารายได้อีกวิธีหนึ่ง
พนักงาน “เรือนเพชรสุกี้” ร่วมใจปรับตัวรับสถานการณ์โควิด-19
“มันต้องผ่านให้ได้ เราไม่ได้ดูแลแค่คนในครอบครัว ยังมีพนักงานหลายร้อยคนที่เราต้องดูแล เพราะพนักงานแต่ละคนก็มีครอบครัวอีก ยังไงก็ต้องผ่านไปให้ได้ ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง แต่เพื่อพนักงานเราด้วย เป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ของเราเหมือนกัน” พงศ์ธรรศ กล่าวในฐานะผู้บริหาร ‘เรือนเพชรสุกี้’ รุ่นที่ 3 ที่กำลังเผชิญหน้าผลกระทบจากโรคโควิด-19
นอกจากดูแลคนในครอบครัวและพนักงาน อีกหนึ่งความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่คือการสืบทอดตำนานความอร่อยของสุกี้โบราณตำรับไห่หนานที่ ‘อากงซื้อไช้’ สร้างไว้
“สิ่งที่อากงย้ำมากที่สุด คือเรื่องคุณภาพอาหารต้องไม่ตก อากงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เมื่อก่อนอากงนั่งอยู่ในห้องข้างหลัง เห็นครัว ชอบสั่งอาหารมาเทสต์เอง จานไหนมีปัญหา อากงเดินเข้าครัวเองเลย ต้องมั่นใจว่าอาหารทุกจานที่ออกจากครัวคุณภาพต้องได้ รสชาติต้องได้ เราก็เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ ตอนโตก็ติดเป็นนิสัยทำแบบนั้นด้วยเหมือนกัน สั่งอาหารมาเทสต์เอง เจอปัญหาปุ๊บเราเดินเข้าครัวเพื่อคุยกับพนักงานให้เขาช่วยปรับ แต่การอยู่ที่นี่เหมือนเราอยู่กับพนักงานทุกคนมาตั้งแต่เด็กๆ ก็เหมือนไม่ใช่เจ้านายกับลูกน้อง แต่เหมือนฐานะเพื่อนร่วมงาน มีปัญหาอะไรผมสามารถคุยกับพนักงานได้ พนักงานมีปัญหาอะไรเคาะกระจกเดินเข้ามานั่งคุยได้ คืออยู่กันแบบเพื่อนร่วมงาน เราไม่ได้แบ่งเป็นเจ้านายต้องอยู่บนหอยคอยสูงๆ ขนาดนั้น”
ด้วยเหตุนี้กระมัง การ ‘ซื้อตัว’ จึงไม่เคยเป็นผลสำเร็จ เต้าเจี้ยวสูตรลับและน้ำจิ้มรสเด็ดยังคงอยู่ที่ ‘เรือนเพชรสุกี้’ ตลอดไป
เรือนเพชรสุกี้ (ร้านดั้งเดิมบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่)
จุดเด่น : สุกี้โบราณตำรับไห่หนาน, อาหารจีน
ประเภทอาหาร : สุกี้, อาหารจีน
เมนูเด็ด : เซตสุกี้, ออส่วนกระทะร้อน, น่องไก่เรือนเพชร, เกี๊ยวปลา, ลูกชิ้นหมึก, ลูกชิ้นกุ้งเห็ดหอม, คุกกี้สิงคโปร์
บริการดีลิเวอรี่ : Grab, Robinhood, Gojek, Line Man, Line @ruenpetch และ https://www.facebook.com/ruenpetch
ที่อยู่ : สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ โทร.0 2314 5047, สาขาปากน้ำสมุทรปราการ (ถนนศรีนครินทร์) โทร.0 2730 9505, สาขาเซ็นทรัลพลาซา บางนา (ชั้น 5 โซน Food Balcony) โทร.0 2103 4633 และสาขาเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 (ชั้น 3 โซนโรงภาพยนตร์) โทร.0 2100 4696
เวลาเปิดบริการ : ตามมาตรการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ติดตามคอลัมน์ “50 ปีอร่อยเหมือนเดิม” ได้ทุกวันศุกร์ ทางไลฟ์สไตล์ @Taste
ร้านที่คุณอาจสนใจ
ปั้นลี่ บ้านขนมปังไส้หมูแดง 70 ปีบนถนนเจริญกรุง
‘ทิพย์รส’ ตำนานบทใหม่ 51 ปี ไอศกรีมไทยย่านเตาปูน
‘ฮกกี่’ ห่านพะโล้ตำรับซัวเถา 55 ปีสุดลือลั่นย่าน ‘บรรทัดทอง’
ไต้หวัน วอนประชาชน หยุดเปลี่ยนชื่อเป็น “แซลมอน” แลกซูชิฟรี
]